Scottish Universities Alumni
Kulapat Meekul (Meen)
LLM Intellectual Property and the Digital Economy
University of Glasgow
"Review (ฉบับย่อ) Copyright X: Glasgow
 
  1. คืออะไร
    • วิชากฎหมายลิขสิทธิ์ ซึ่งออกแบบหลักสูตรโดยอาจารย์จาก Harvard Law School (HLS)
  2. เกี่ยวอะไรกับ Glasgow
    • University of Glasgow (UoG) เปิดสอนวิชานี้ในฐานะเป็นหลักสูตรในเครือ (affiliated course) โดยนอกจาก UoG แล้ว ยังมีมหาวิทยาลัยอื่นหลายแห่งทั่วโลกที่เปิดสอนวิชานี้ เช่น Monash University (ออสเตรเลีย), University of Hamburg (เยอรมัน) เป็นต้น
      1. ปีนี้ใน UK มีแค่ UoG เท่านั้นที่เปิดสอน ส่วนปีก่อน ๆ มีแค่ Bournemouth (ปีการศึกษา 2014/15) และ Sterling (2015/16) (อ้างอิง: http://copyx.org/affiliates/)
  3. เปิดสอนมากี่ปี เรียนกี่คน ใครบ้าง
    • HLS อนุญาตให้ UoG เปิดสอนตั้งแต่ปี 2013 แต่กว่าจะได้เปิดสอนจริงคือปีการศึกษา 2016 ดังนั้น ปีนี้ (2017/18) จึงเป็นปีที่ 2 ที่เปิดสอน โดยมีนักเรียนทั้งหมด 11 คน เป็น ป.โท 10 คน และ ป.เอก อีก 1 คน ส่วนปีที่แล้วมีนักเรียนเรียน 5 คน (เนื่องจากปีที่แล้วคลาสเล็ก เลยมีการเสนอแนะให้ปีนี้รับนักเรียนมากขึ้น แต่ feedback ปีนี้บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า คนเยอะเกิน 5555 ผมเลยคิดว่าปีหน้า อาจจะรับน้อยกว่าปีนี้)
    • นักเรียนคละชาติมาก โดยปีนี้มี เยอรมัน บราซิล มอลตา กรีซ สก็อตแลนด์ จีน มาเลเซีย และไทย
      1. เยอรมันมีจำนวนเยอะสุดคือ 3 คน รองลงมาคือ สก็อตแลนด์ 2 คน ที่เหลือชาติละคน (ผมเป็นคนไทยคนเดียว และน่าจะเป็นคนแรก จากการถามรุ่นพี่ปีที่แล้ว เค้าบอกว่า ปีที่แล้วไม่มีเด็กไทยลงเรียน)
  4. ใครเป็นคนสอน
    • มีอาจารย์ 2 ท่าน โดยแยกสอนกันคนละส่วน
      1. Prof. William Fisher สอนเนื้อหาหลักผ่านทาง YouTube (อาจารย์ท่านนี้เป็นอาจารย์จาก Harvard Law School) และ
      2. Dr. Thomas Margoni สอนเนื้อหาเสริม (อาจารย์ท่านนี้เป็นประธานหลักสูตร LLM. IP ของ UoG และเป็น senior lecturer สอนวิชา Copyright in the Digital Environment (CDE)
    • อาจารย์ผู้ช่วยอีก 1 ท่าน
      1. Ally Farnhill เป็นผู้นำการสัมมนา (ท่านนี้เป็นศิษย์เก่า LLM. IP (2016/17) และเป็นนักเรียนรุ่นแรกของ Copyright X: Glasgow)
  5. สมัครเรียนยังไง ใครสมัครได้บ้าง
    • รับสมัครเฉพาะนักเรียน LLM in IP เท่านั้น (กรณี ป.เอก ที่มาเรียนในปีนี้ เหมือนว่าเค้ามาสังเกตการณ์เฉย ๆ คือเค้าแทบจะไม่เสนอความคิดเห็นใด ๆ ในห้องเรียน โดยจะปล่อยให้เด็ก ป.โท คุยกันเอง รวมถึงเค้าไม่ต้องทำงาน group project ส่ง – งานกลุ่มคืออะไร เดี๋ยวอธิบายในข้อ 10)
    • จะมีการประชาสัมพันธ์ช่วงต้นเทอมแรกก่อน หลังจากนั้นประมาณปลายเทอมแรก อาจารย์ Margoni จะอีเมล์ถึงนักเรียนว่าใครที่สนใจให้อีเมล์ตอบกลับแสดงความประสงค์จะสมัครเรียน
    • อาจารย์จะคัดเลือกอีกทีหนึ่ง โดยใช้วิธีใครสมัครก่อนได้ก่อน (first come, first served basis) แต่อาจารย์เคยบอกว่า จะต้องดูผลคะแนน essay ชิ้นแรก (วิชา CDE) ประกอบด้วย คือว่าปีนี้นักเรียน LLM in IP ลงวิชา CDE กันหมดเลย ดังนั้นอาจารย์ก็เลยกำหนดเงื่อนไขนี้ขึ้นมา (แต่ไม่รู้ว่าสุดท้ายแล้ว เค้าได้ดูคะแนนเป็นปัจจัยเสริมด้วยมั้ย)
  6. เรียนที่ไหน
    • ห้องประชุมของศูนย์วิจัย CREATe (ศูนย์วิจัยด้านกฎหมายลิขสิทธิ์ (Copyright) และโมเดลธุรกิจใหม่ในเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ (New Business Models in the Creative Economy)) โดยอยู่ใกล้ ๆ กับ Chapel ของมหาวิทยาลัย (ลิงค์ศูนย์วิจัย: http://www.create.ac.uk)
  7. เรียนช่วงไหน, เรียนกี่ครั้ง กี่ชั่วโมงต่อครั้ง
    • เรียนทั้งหมด 10 ครั้ง ๆ ละ 2 ชั่วโมง (ปีนี้เรียนทุกวันจันทร์ เวลา 14 – 16 )
    • เรียนต้นกุมภา ถึง ต้นเมษา (5 กุมภา – 9 เมษา)
  8. เนื้อหาที่เรียน
    • เน้นกฎหมายลิขสิทธิ์ของอเมริกา และมีเปรียบเทียบบ้างกับพวก EU หรือ ประเทศอื่น ๆ
    • เน้นทฤษฎี และคำพิพากษาของศาลสูงของอเมริกา
    • เนื้อหาเยอะและหลากหลาย โดยเรียนเกือบครบทุกประเด็นสำคัญของกฎหมายลิขสิทธิ์ เช่น
      1. Justifications to copyright law เช่น ทฤษฎี Fairness, Personality, Welfare และ Culture
      2. งานอันมีลิขสิทธิ์ (Subject matter) เช่น การคุ้มครอง Fictional Characters
      3. ความเป็นผู้สร้างสรรค์ (Authorship) เช่น แนวคิด Romanticism และแนวคิด Confucianism
      4. การละเมิดลิขสิทธิ์ (Copyright Infringement) เช่น Subconscious Copying
      5. Fair use เช่น Parody
  9. วิธีการเรียน
    • สิ่งที่ต้องทำ
      1. ดูคลิปวิดีโอที่สอนโดย Prof. William Fisher ก่อนเสมอ โดยสามารถเข้าไปดูเนื้อหาได้ที่เว็บ www.copyx.org (หรือสามารถเข้าผ่าน YouTube โดยตรงก็ได้ โดยพิมพ์คำค้นทำนองว่า copyright x) และเว็บสื่อประกอบการเรียนhttps://cyber.harvard.edu/people/tfisher/IP/IPMaps.htm
      2. อ่านบทความ ซึ่งจำนวนบทความที่ต้องอ่านก็เยอะประมาณนึง แต่ไม่มาก โดยเฉลี่ยน่าจะประมาณ 40 – 60 หน้า ต่อสัปดาห์ (ไม่เยอะเท่าวิชาหลักที่เรียนใน LLM ซึ่งเฉลี่ยประมาณ 100 หน้า)
      3. เข้าคลาสเรียนและคุยเกี่ยวสิ่งที่ฟังและอ่านมา
    • Student-led Seminar
      1. อาจารย์ Margoni แทบจะไม่พูดอะไรเลย คือไม่สอนอะไรเลยนั่นเอง 5555
      2. นักเรียนทุกคนต้องนำสัมมนากันเองว่า เรื่องที่อ่านและฟังมาเป็นยังไง มีประเด็นอะไรสำคัญ มีคดีไหนที่ศาลตัดสินแล้วเกิดผลกระทบต่อเจ้าของสิทธิ์หรือไม่
        • ด้วยความที่ให้นักเรียนนำสัมมนากันเอง ผลคือคาบแรกที่เรียนนั้น ต่างคนต่างพูดกันคนละประเด็น พูดสลับเนื้อหาไม่เป็นไปตามลำดับที่ฟังหรืออ่านมา
        • การเรียนในครั้งต่อ ๆ มา เลยมีการกำหนดให้อาจารย์ผู้ช่วย Ally Farnhill มาช่วยนำสัมมนา โดยเค้าจะคอยกำหนดประเด็นและลำดับของเนื้อหาที่จะคุยกัน ผลคือ คุยกันถูกประเด็นและเป็นลำดับตามเนื้อหามากขึ้น
      3. ในประเด็นไหนที่ซับซ้อนหรือมีแง่มุมอื่นที่น่าสนใจนอกเหนือไปจากคลิปวิดีโอและรายการบทความที่ต้องอ่าน อาจารย์ Margoni จะคอยแทรกเนื้อหาและมุมมองที่น่าสนใจให้คิดกันต่อ (ข้อนี้ถือว่าดีมาก เพราะมักเป็นสิ่งที่เราไม่รู้ ไม่เคยนึกถึง หรือไม่เคยเรียนมาก่อนจากวิชาอื่น ๆ ที่ลงเรียนปกติ เช่น ประเด็นคำถามว่าเหตุใดงานอันมีลิขสิทธิ์บางประเภทถึงได้รับความคุ้มครองเท่ากับงานอันมีลิขสิทธิ์ประเภทอื่น ทั้ง ๆ ที่ระดับการคิดริเริ่มสร้างสรรค์ (originality) ในงานแต่ละประเภทนั้นแตกต่างกัน หรือประเด็นคำถามว่าเหตุใด EU ถึงกำหนดให้การคิดริเริ่มสร้างสรรค์ (originality) ต้องเกิดจาก creative choice เท่านั้น โดยไม่รวมถึง creative control)
  10. การทดสอบจบ
    • โดยปกติจะวัดผลด้วยวิธีการสอบแบบทำข้อสอบแนวตุ๊กตาทำนองเดียวกันกับข้อสอบตุ๊กตาเมืองไทยเลย
      1. แต่ UoG ใช้วิธีวัดผลจากการทำ Group Project โดยต้องนำเสนอเป็นกลุ่มส่งในคาบสุดท้าย
        • อาจารย์บอกว่าจะเลือกสอบก็ได้ แต่การเลือกสอบนี้เป็นทางเลือกเสริม (optional) ในที่นี้หมายถึงว่า ต่อให้เลือกสอบ ก็ยังต้องทำงานกลุ่มส่งอยู่ดี (สุดท้ายคือไม่มีใครเลือกสอบเพิ่มนะ)
    • Group Project
      1. เน้นศึกษาเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ (ให้ความรู้สึกเหมือนทำ dissertation เลย) โดยปีนี้ศึกษาเรื่อง Right of communication to the public of works
      2. แม้เป็นงานกลุ่ม แต่จะมีการแบ่งงานให้ต่างคนต่างศึกษาประเด็นย่อย ๆ เช่น history at international level and at EU level, transmission, making available to the public, “new” public, และพวก cases ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องซึ่งตัดสินโดยศาล CJEU/ECJ
      3. นำเสนอพร้อมสื่อประกอบ  เช่น power point, prezi เป็นต้น (ไม่ต้องทำรายงานนะ แค่ทำสื่อประกอบการนำเสนออย่างเดียว)
  11. จบแล้วได้อะไร
    • ใบเกียรติบัตรเข้าร่วมหลักสูตร โดยออกให้ในนามของมหาวิทยาลัย Harvard
    • แต่ต้องเป็นไปตามเกณฑ์ด้วยคือ (1) ผลการนำเสนอกลุ่ม ต้องเป็นที่พึงพอใจของอาจารย์ว่านักเรียนได้ศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมความรู้จนถึงระดับที่ยอมรับได้ และ (2) ต้องไม่ขาดเรียนเกิน 3 ครั้ง (มันเรียนแค่ 9 ครั้ง + 1 ครั้ง สำหรับการนำเสนองานกลุ่ม ดังนั้น ถ้าขาดเยอะเกิน ก็จะไม่ได้เกียรติบัตร)
  12. ได้อะไรวิจากวิชานี้ ตอบแบบภาพรวม
    • ต้องกล้าพูด เพราะคนเรียนไม่มาก หากไม่พูดเลย จะถูกจี้ถาม
    • ต้องรีบตอบ เพราะจะมีการเปลี่ยนประเด็นคุยกันค่อนข้างเร็ว เนื่องจากครั้งนึงเรียนเพียง 2 ชั่วโมง จึงทำให้ต้องเร่งคุยเพื่อที่จะได้เก็บประเด็นสำคัญให้ครบ ดังนั้น คิดเห็นอย่างไร ก็พูดออกไปเลย ไม่จำต้องสนใจว่าจะถูกหรือผิด
    • ควรรู้ข่าวเกี่ยวกับกฎหมาย IP ที่เกี่ยวกับประเทศของตนเอง เช่น
      1. เนื้อหาที่เรียน มีคาบหนึ่ง เรียนเกี่ยวกับคดีละเมิดลิขสิทธิ์ ที่คนไทยขายหนังสือมือสองในอเมริกา (คดีของ คุณสุภาพ เกิดแสง) อาจารย์และเพื่อน ๆ ก็มาถามผมว่า ช่วงที่ศาลของอเมริกาตัดสินให้คนไทยชนะ ข่าวในไทยว่าอย่างไรบ้าง ความเห็นคนไทยคิดยังไงต่อเรื่องนั้น (ข้อนี้ขึ้นอยู่กับการเตรียมตัวก่อนเข้าเรียนของแต่ละคน)
      2. กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญามักมีบทบัญญัติว่าด้วยมาตรการบังคับใช้สิทธิ (Compulsory License หรือ CL) โดยประเทศไทยก็เคยมีการประกาศใช้ CL กับสิทธิบัตรยา เช่น ยาต้านไวรัส Efavirenz เป็นต้น เมื่อเทียบกับอเมริกานั้น เค้าก็มีการใช้ CL เหมือนกัน โดยใช้กับงานเพลงอันมีลิขสิทธิ์ (Music work) ดังนั้น ถ้าเราพอรู้เรื่อง CL มาก่อนบ้าง ก็จะทำความเข้าใจได้ง่ายขึ้นเมื่อมีการเรียนเรื่อง CL ในกฎหมายลิขสิทธิ์
    • ต้องบริหารเวลาให้ดี เพราะตลอดช่วงที่เรียนวิชานี้ จะตรงกับช่วงปั่น essay ของวิชาอื่น รวมถึงเป็นช่วงเตรียมตัวอ่านหนังสือสอบปลายภาคด้วย [ปีนี้มี essay ปลายภาค 2 ตัว (ส่ง 13 และ 16 เมษา) และสอบปลายภาคอีก 2 ตัว (26 เมษา และ 2 พฤษภา)]
  13. คำแนะนำสำหรับคนที่สนใจ
    • วิชานี้เป็น extracurricular subject หมายถึง
      1. ไม่นับหน่วยกิต
      2. ไม่มีคะแนน
      3. ไม่ปรากฏในใบ transcript
      4. ไม่มีไรทั้งสิ้น 5555
    • แต่ถ้าอยากได้ความรู้เพิ่ม อยากรู้เกี่ยวกับกฎหมายลิขสิทธิ์ในแบบที่ลงลึกกว่าที่เรียนแบบทั่ว ๆ ไป วิชานี้ตอบโจทย์แน่นอน
    • สำหรับคนที่สนใจในวิชากฎหมายลิขสิทธิ์ เช่น นักศึกษา ป.ตรี หรือผู้ที่ทำงานสาย IP สามารถเข้าไปดูคลิปการสอนได้ฟรีทาง YouTube รวมถึงสามารถโหลดบทความที่เกี่ยวข้องได้ฟรีโดยตรงจากเว็บ www.copyx.org
    • ผมแนะนำเว็บไซต์ https://cyber.harvard.edu/people/tfisher/IP/IPMaps.htm ซึ่งนอกจากจะมีข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมายลิขสิทธิ์แล้ว ยังมี IP อื่น ๆ อีกด้วย เช่น สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า และความลับทางการค้า
"
*แมคดูเคชั่น สถาบันส่งเสริมการศึกษาต่อสก็อตแลนด์
ก่อตั้งขึ้นโดยศิษย์เก่าสก็อตแลนด์ และเป็นตัวแทนอย่างเป็นทางการของมหาวิทยาลัยสก็อตแลนด์ทุกแห่ง ที่เดียวในประเทศไทย แมคดูเคชั่นมีทีมที่ปรึกษาที่เป็นศิษย์เก่าและอดีตเจ้าหน้าที่จากมหาวิทยาลัยต่างๆในสก็อตแลนด์ ได้รับความสนับสนุนทางการเงินโดยตรงจากมหาวิทยาลัยและหน่วยงานภาครัฐ นักเรียนสามารถขอรับคำแนะนำจาก McDucation โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในทุกขั้นตอน